Organic Food Journey (Ep. 3)

…The Soy Story…

Processed with VSCO with a6 preset
นี่แหละ ความมั่นคงทางอาหาร (Food Security)

“ปฏิบัติการค้นหา…เส้นทางอาหารอินทรีย์…ตอนที่ 3 เรื่องราวของถั่วเหลือง  จากแม่โจ้ สู่ ดอนเจียง”

การสร้างชุมชนเข้มแข็ง การพึ่งพาตนเอง ยืนหยัด อยู่ด้วย “ลำแข้ง” ของตัวเองอย่างมั่นคง มิได้สำเร็จเพียงแค่วันสองวันแน่ หากแต่ต้องอาศัยความทุ่มเท ความพากเพียร ความร่วมมือจากมวลชน ปฏิบัติการต่อเนื่องกันหลายทศวรรษ จริงจัง มุ่งมั่น เพื่อประสานพลังร่วมจากหลายฝ่าย อีกทั้งยังต้องประคับประคองทุกกลุ่มก้อน ให้สมัครสมาน สามัคคี กลมเกลียวกันเสมอ เดินทางมุ่งหน้าสู่เส้นทางความมั่งคั่ง และ ยั่งยืน บางชุมชน อาจจะไม่สามารถสัมผัสเป้าหมายปลายทางดังปราถนา ก็เป็นได้

การเดินทางไปศึกษาผลสำเร็จของกลุ่มเกษตรอินทรีย์ลุ่มน้ำฮาว ที่ออกดอกพลิผลเป็นต้นแบบให้พวกเราได้เรียนรู้ ทำการสำรวจเส้นทาง Organic Food Journey ของเราในครั้งนี้นั้น มีความหมายมากขึ้น พวกเราจึงตั้งใจ และตื่นเต้นที่จะไป ณ ที่แห่งนี้ หมู่บ้านดอนเจียง ต.สบเปิง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่

ครั้นถึงวันอาทิตย์ที่ 18 มิถุนายน 2560 พวกเรา GreenConnex และ ทีมงาน iGTC คณะพัฒนาการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จึงเริ่มออกเดินทาง เพื่อ “สืบ เสาะ แสวงหา ความหมายของอาหารที่เป็นมากกว่า สุดยอดแหล่งโปรตีนเพื่อชุมชน” และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ เรียนรู้วิถีเกษตรอินทรีย์แบบฉบับของดอนเจียง” โดยเริ่มจาก……

“สืบ” เรื่องราวจุดเริ่มต้นของถั่วเหลือง ถอดรหัสสายใยความผูกพันระหว่าง ชุมชน กับ ถั่วเหลือง

ก่อนเริ่มกิจกรรม อาจารย์อนุวัต เชื้อเย็น ได้ร่วมเปิดปฐมบทไว้อย่างน่าสนใจกับการเดินทางในครั้งนี้ ว่า การเดินทางในครั้งนี้พวกเราไม่ใช่เพียงการไปท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว แต่พวกเราไปเพื่อศึกษาหาความหมายเชิงลึกของอาหาร ด้วยการออกแบบเรียนรู้ร่วมกันบนฐานของบริบทชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืน ที่ดอนเจียง

เมื่อถึงที่ดอนเจียง พ่ออนัน และ พี่ณัฐนิชา (ผู้นำกลุ่มเกษตรอินทรีย์ต้นน้ำแม่ฮาว) ได้ต้อนรับพวกเราอย่างอบอุ่นด้วยซาลาเปาแสนอร่อยจากถั่วเหลืองฝีมือคุณลุงคุณป้าที่หมู่บ้านดอนเจียง ทำให้เรามั่นใจเลยว่าอาหารที่เรากินในวันนี้มาจากที่ไหน สวนของใคร มีที่มาที่ไป “สุขใจ” ทุกๆ คำที่กิน  จากนั้นพ่ออนันได้ชวนพวกเราคุย โดยเล่าถึงจุดเริ่มต้นของเกษตรอินทรีย์บ้านดอนเจียง สู่ การขยายกลุ่มเกษตรอินทรีย์ต้นน้ำแม่ฮาวจากวิกฤติของการทำเกษตรเคมีเชิงเดี่ยวของชุมชน ก่อเกิดหนี้สินจำนวนมาก จึงได้ร่วมกลุ่มและต่อสู่กับแนวคิดแบบทุนนิยม กลับมาสู่แนวคิดการทำเกษตรอินทรีย์ ในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน (Sustainable Agriculture) เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารของชุมชน (Food Security) บนฐานของการพึ่งตนเอง โดยถั่วเหลืองเป็นกลไกหนึ่งที่สำคัญต่อการสร้างความมั่นคงทางอาหารของชุมชนแห่งนี้ ที่นิยมปลูกในช่วงหลังเก็บเกี่ยวจากการทำนาข้าว เพื่อเป็นการบำรุงให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ โดยเชื่อ “ว่าถ้าเราดูแลดินดี สิ่งแวดล้อม สิ่งมีชีวิตอื่นๆ ก็จะดีตามด้วย” ดังนั้น ถั่วเหลืองทุกเม็ด บนผืนแผ่นดินนี้ จึงเป็นถั่วเหลืองที่มีชีวิตจิตใจ และเปี่ยมไปด้วยคุณค่า

“เสาะ” หารากเหง้าวัฒนธรรมของชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืน “อยู่” อย่างไรให้ยืนยาว

จากมรดกภูมิปัญญาอาหาร ส่งผ่านรุ่นต่อรุ่น สู่การแปรรูปผลผลิตเกษตรอินทรีย์ “แม่ลอง” หรือ คุณจำลอง อินชัย ประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านสันป่ายางได้เล่าถึงที่มาของถั่วเหลืองให้พวกเราฟังว่า วัตถุดิบหลักของเราใช้ถั่วเหลืองพันธุ์ท้องถิ่น ไม่มีการปนเปื้อน GMOs ของเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ภาคเหนือ (มอน.) ตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา ทางกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านสันป่ายาง จึงรวมตัวกัน นำเอาภูมิปัญญาท้องถิ่นดั้งเดิมของบรรพบุรุษ ในการแปรรูปถั่วเหลืองเพื่อการบริโภค แล้วนำมาผลิตเพื่อเป็นสินค้าชุมชน เพื่อจำหน่ายเชิงพานิชย์ เป็นการเพิ่มรายได้ จากถั่วเหลืองหมัก (ถั่วเน่าเมอะ) ต่อยอดสู่การเป็นเต๊าเจี้ยว ซีอิ๊วขาว พัฒนาเป็นมิโสะ จนกลายเป็นเอกลักษณ์อันโดนเด่นของชุมชน

จากนั้นแม่ลองได้ชวนพวกเราบุกเข้าโรงแปรรูปเต้าเจี้ยวสุดยอดเมนูจากถั่วเหลือง ด้วยการลงมือ ลงแรงทำเต้าเจี้ยวกันอย่างสนุกสนาน โดยเฉพาะสูตรอันเป็นเอกลักษณ์ของบ้านสันป่ายาง อร่อยกลมกล่อมอย่างไม่รู้ลืม

แม่เครือวัลย์ ได้ชวนพวกเรา “ดังไฟ” หรือ จุดเตาถ่านในภาษาไทยภาคกลาง ทำข้าวแคบขนมขบเคี้ยวโบราณของคนท้องถิ่น โดยส่วนผสมจากแป้งข้าวเหนียวก่ำอินทรีย์ของกลุ่ม นำมาผสมน้ำสะอาดได้ที่ แล้วจึงนำมาย่างไฟอ่อนๆ หอมกรอบอร่อยจนสมาชิกของเรากินชิ้นเดียวไม่เคยพอ

แม่คำเอ้ย ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการคั่วถั่ว ได้ชวนพวกเราคั่วถั่ว อย่างพิถีพิถัน นำเอาถั่วเหลืองที่คัดแล้ว คลุกเคล้ากับเกลือ ลงกะทะตั้งไฟอ่อนๆ กว่าจะเป็นถั่วเหลืองคั่วเกลือ ทำเอาพวกเราหมดแรง รางวัลของการรอคอยกว่าหนึ่งชั่วโมง ของขวัญที่ได้คือ ถั่วคั่วเกลือหอมกรอบอร่อย

แม่ศรี ยังได้ชวนพวกเรา ทำถั่วเน่าเมอะ (ถั่วเน่าเมอะ คือ ถั่วเหลืองแปรรูปโดยการหมักซึ่งสามรถนำไปดัดแปลงเพื่อการบริโภคได้หลากหลาย เช่น นำไปใส่ อาหาร (แกง) เป็นเครื่องปรุงเพื่อเพิ่มรสชาติ ห่อในใบตองย่างไฟอ่อนๆรับประทานเป็นอาหาร เรียกว่าถั่วเน่าเมอะ มีการปรุงรสด้วยพริกสด ข่า กระเทียม ทำเป็นน้ำพริกก็อร่อยไม่แพ้กัน ทำเอาเพื่อนๆ คิดถึงบ้านกันเลยครับ

แม่วีนัส ยังได้สอนให้พวกเราทำขนมถั่วแปบ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ขนมดังโง๊ะในภาษาญี่ปุ่น โดยการนำแป้งข้าวหอมนิลผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน ก่อนนำมาห่อสอดไส้ด้วยกากถั่วเหลืองกวน ผลพลอยได้จากการทำน้ำเต้าหู้ โรยด้วยผงคินาโก๊ะ อีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ชุมชนจากถั่วเหลืองคั่วเกลือครับ

 

อีกหนึ่งเมนู คือ น้ำเต้าหู้สูตรของดอนเจียงอร่อยไม่แพ้เมนูใดๆเป็นเมนูแสนง่ายแถมยังมีประโยชน์ ช่วยให้ผิวพรรณดี ดูอ่อนกว่าวัย ทำให้น้องๆหลายคนอยากนำไปสร้างอาชีพในอนาคต

“แสวงหา” ความหมายของถั่วเหลืองในมิติวิถีวัฒนธรรมการบริโภคอย่างลึกซึ้ง

จากมรดกภูมิปัญญา สู่ การสืบสาน ส่งต่อ เพื่อสืบทอด อัตลักษณ์อันเป็นเอกลักษณ์ของ “ดอนเจียง” ทำให้พวกเราเห็นระบบอาหารอินทรีย์ตลอดห่วงโซ่ ทั้งชุมชนของคนปลูก ชุมชนของคนกิน ชุมชนของเกษตรกรรมยั่งยืน พ่ออนัน บอกเราเสมอว่า “อาหารที่ดีที่สุดคืออาหารที่มาจากบ้านของตนเอง อาหารที่เราปลูกเอง เราอยากกินอะไรก็ปลูกสิ่งนั้นและที่สำคัญต้องกินตามฤดูกาล แค่นี้ก็มีความสุขมากแล้ว”

พวกเราเชื่ออย่างความบริสุทธิ์ใจว่า ความมั่นคงทางอาหารของที่นี้ คือความั่นคงที่เราไม่ต้องซื้ออาหารจากข้างนอก เรามีอธิปไตยทางอาหาร (Food Sovereignty) บนฐานของทรัพยากร แต่แน่นอนว่าชุมชนเกษตรอินทรีย์จะดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน ก็ขึ้นกับทุกๆภาคส่วนของสังคม และพวกเราก็เป็นหนึ่งคนที่ได้เดินทางไปสัมผัส ณ ที่แห่งนี้ ที่จะเป็นผู้ที่ส่งผ่านสิ่งดีๆเหล่านี้ให้แก่สังคมต่อไป “เพราะถั่วเหลืองที่นี้มีจิตใจ”

เสียงจากใจของทุกๆท่านที่ส่งผ่าน เราเชื่อว่าการเข้าใจเชิงลึกเกี่ยวกับความสัมพันธ์แห่งระบบอาหารท้องถิ่นตลอดห่วงโซ่ เสริมส่งความมั่นคงทางอาหารของชุมชน คน ถั่ว และการพัฒนา จะเป็นจุดเริ่มต้นและการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ของสังคม

สุดท้ายนี้ทางทีมงาน GreenConnex, iGTC และหน่วยพัฒนางานวิจัยด้านนวัตกรรมการบริการสำหรับแหล่งท่องเที่ยวคุณค่าสูง (Research Unit of Service Innovation for High Value Destination) คณะพัฒนาการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ขอขอบคุณ พ่อๆแม่ๆกลุ่มเกษตรอินทรีย์ต้นน้ำแม่ฮาว และผู้ร่วมเดินทางทุกๆท่าน ที่ร่วมเปิดประสบการณ์ครั้งนี้ไปพร้อมกัน เราเชื่อว่าพวกเราในฐานะผู้บริโภค จะเป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมสร้างชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืน และส่งผ่านเรื่องราวเหล่านี้ไปด้วยกันครับ

mg_4632
Food for All

แล้วเราจะร่วมเดินไปด้วยกันในครั้งหน้า…โปรดติดตามตอนต่อไป Organic Food Journey Ep.4 [ ฟรี…สมัครเข้าร่วมกิจกรรม…คลิก ]

 

 

Leave a comment