Let’s Train the Next Generation of Farmers!

รวมพลังสร้างความมั่นคงทางอาหาร สู่ การสร้างสรรค์สังคมเกษตรอินทรีย์อย่างยั่งยืน

DSC00634

02.02.2560 – 05.02.2560  | ทีมงาน GreenConnex ร่วมกับ วิทยาลัยบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้จัดฝึกอบรม หลักสูตรเรื่อง “เสริมศักยภาพด้านเกษตรอินทรีย์ในระบบเกษตรกรรมที่ยั่งยืน” ขึ้น ณ วิทยาลัยบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ต้นน้ำแม่ฮาว ต.สบเปิง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ และบ้านอาจารย์ ดร.ชมชวน บุญระหงษ์ 

กิจกรรมในวันแรก ณ วิทยาลัยบริหารศาสตร์ ม.แม่โจ้

กิจกรรมที่ 1 เป็นกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในเรื่องของทัศนคติเกี่ยวกับเรื่องเกษตรอินทรีย์ โดยใช้การวิเคราะห์เครื่องมือด้วยต้นไม้ปัญหา การเชื่อมโยงถึงปัญหาและสาเหตุของการทำอาชีพเกษตรกรรม รวมถึงการดำรงชีวิตของคนไทยในปัจจุบัน เชื่อมโยงกับหลักพระพุทธศาสนา อริยสัจ 4 ที่ว่าด้วยหลักแห่งความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ อันประกอบด้วย ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค ซึ่งสามารถนำเสนอได้ดังนี้

ทุกข์ (ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ เป็นสภาพของความลำบากทั้งทางกายและทางใจ ทั้งรัก โลภ โกรธ หลง ความเศร้าโศกเสียใจทั้งปวง) เมื่อพวกเราวิเคราะห์ถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรแล้ว จะพบว่าทุกข์ของเกษตรกร โดยส่วนใหญ่แล้วมาจากการที่เกษตรกรมีรายจ่ายมากกว่ารายรับ จากนั้นก็ทำการวิเคราะห์เชื่อมโยงถึง สมุทัย (สาเหตุแห่งทุกข์นั้น)

สมุทัย (สาเหตุแห่งทุกข์นั้น) โดยจะเห็นได้ว่า สาเหตุของปัญหาคือ

1.เกิดจากการขาดทุนจากภาคเกษตรกรรม ทั้งนี้ เพราะเกษตรกรไทยส่วนใหญ่ มีรายจ่ายในครัวเรือนสูง ทั้งที่มีรายจ่ายจำเป็น และไม่จำเป็น โดยรายจ่ายจำเป็นนั้น ได้แก่ รายจ่ายในการซื้อเสื้อผ้า ภาษีสังคม ค่าโทรศัพท์ ซ่อมแซมบ้าน/รถ ค่า Internet ชำระหนี้ ค่าการศึกษา ค่าประกัน เป็นต้น ส่วนรายจ่ายไม่จำเป็น (ฟุ่มเฟือย) ได้แก่ รายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ตามกระแสสังคมแฟชั่น โทรศัพท์ ทานข้าวนอกบ้าน เครื่องดื่ม/อาหารเสริม ค่าเสริมสวย และเหล้าบุหรี่ เป็นต้น

2.เกิดจากต้นทุนในการผลิตสูง อันเนื่องมาจากการที่เกษตรกรจ้างไถพรวน การเช่าที่ดินทำมาหากิน เกษตรกรขาดองค์ความรู้เรื่องการทำเกษตรเพื่อยังชีพ/การทำเกษตรยั่งยืน รวมถึงรักความสะดวกสบาย ด้วยการจ้างแรงงานราคาถูกมาทำงาน แทนการใช้แรงงานของตนเองหรือคนในครอบครัว อีกทั้งการทำอาชีพเกษตรกรรมในปัจจุบันทำไปเพื่อหวังที่จะได้เงิน หวังได้ผลผลิตจำนวนมาก เกษตรกรมุ่งใช้แต่สารเคมีในการทำการเกษตร โดยที่ไม่สนใจในเรื่องสุขภาพตนเอง และผู้บริโภค

3.ราคาการจำหน่ายผลผลิตไม่เป็นธรรม จะเห็นได้ว่า ไม่มีกลุ่ม/เครือข่ายที่ชัดเจน ไม่มีช่องทางการตลาด อีกทั้งยังมีระบบการส่งเสริมตลาดที่ผิด ที่สำคัญมีการนำเข้าจากต่างประเทศที่ว่าด้วย FTA (FTA ย่อที่มาจาก Free Trade Area หมายถึง เขตการค้าเสรี หรือข้อตกลงทางการค้าเสรี โดยเป็นการรวมตัวกันของ 2 ประเทศขึ้นไป เพื่อตกลงลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงลดค่าภาษีศุลกากรให้น้อยลงพร้อมทั้งให้ความร่วมมือกันในด้านต่างๆ เช่น การอำนวยความสะดวกทางการค้า การลงทุน การคุ้มครองสินค้า เป็นต้น)

4.รายได้นอกภาคการเกษตรไม่แน่นอน ซึ่งจะเห็นได้ว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันมีความผันผวน ข้าวยากหมากแพง รวมถึงประชากรส่วนใหญ่เกิดการว่างงานเป็นจำนวนมากอีกด้วย สะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นล้วนเกิดจากกระแสบริโภคนิยมและการทำอาชีพเกษตรเชิงเดี่ยวทั้งสิ้น  

นิโรธ (ความไม่มีทุกข์) เมื่อเกษตรกรทราบถึงสาเหตุของปัญหา ต่างก็มาทำความเข้าใจในสมุทัย ความเข้าใจสาเหตุแห่งทุกข์ร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การสร้างแนวทางการแก้ไขปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น ด้วยแนวทางแห่ง มรรค ( หนทางแห่งการดับทุกข์ ) ดังนี้

มรรค ( หนทางแห่งการดับทุกข์ ) ดังนี้

1.แนวทางในการลดรายจ่ายในครอบครัวให้ต่ำลง : ปลูกผัก/เลี้ยงสัตว์ ไว้กินเอง รู้จักประหยัดน้ำ/ไฟฟ้า ผลิตของใช้ในชีวิตประจำวันขึ้นใช้เอง เช่น สบู่ แชมพู เป็นต้น

2.แนวทางการลดต้นทุนในการผลิตให้ต่ำลง : ใช้แรงงานในครอบครัว ผลิตสารชีวภาพขึ้นใช้เอง เก็บเมล็ดพันธุ์เอง ทำสวนเกษตรแบบผสมผสาน ผลิตอาหารสัตว์เอง

ฉะนั้น จะเห็นได้ว่าแนวทางต่างๆเหล่านี้ เมื่อเกษตรสามารถปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวได้ ก็จะส่งผลให้เกษตรกรมีรายจ่ายในครัวเรือนลดลง รายได้ก็จะเพิ่มขึ้น หนี้สินก็จะลดลง ความทุกข์กาย ทุกข์ใจก็จะหมดไป สุขภาพร่างกายของตนเอง ครอบครัว และคนรอบข้างก็จะดีขึ้น และสุดท้ายครอบครัวก็จะอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข

กิจกรรมที่ 2 กิจกรรมถังรั่ว : เป็นกิจกรรมที่สะท้อนให้กลุ่มเกษตรกร ได้ทราบถึงการดำรงชีวิตประจำวันของคนเราในปัจจุบัน ต้องเสียค่าใช้จ่ายไปกับอะไรบ้างในแต่ละวัน แต่ละเดือน แต่ละปี ทั้งที่เป็นรายจ่ายของตนเอง และครอบครัว โดยให้กลุ่มเกษตรกรได้ร่วมกันวิเคราะห์ถึงค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไป แล้วจะมีแนวทางการแก้ไขอย่างไร เพื่อสามารถลดค่าใช้จ่ายได้มากยิ่งขึ้น

โดยการให้เกษตรกรเขียนในสิ่งที่ตนเองจะลดค่าใช้จ่าย และตั้งใจจะทำให้เกิดผลได้อย่างแท้จริง แล้วนำไปปิดถังที่บรรจุน้ำ เพื่ออุดรู ที่น้ำรั่วออกจากถังออกมา ซึ่งกิจกรรมนี้สะท้อนให้เห็นว่า เกษตรกรจะต้องทำอย่างไร เพื่อลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นให้ได้มากที่สุด ทั้งนี้เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวได้ต่อไป

กิจกรรมที่ 3 กิจกรรมพาศึกษาดูงานตลาด ณ ข่วงเกษตรอินทรีย์ ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ โดยพากลุ่มเกษตรกรไปศึกษาดู เพื่อดูพื้นที่ ดูบริบท วิถีตลาดชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม พร้อมให้กลุ่มเกษตรกรได้เข้าร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงความเป็นมาของข่วงเกษตรอินทรีย์ ความเป็นมาเกษตรอินทรีย์ คุณสมบัติของการเป็นพ่อค้า แม่ค้า และกฎระเบียบที่ทุกคนในข่วงเกษตรอินทรีย์ต้องปฏิบัติร่วมกัน

   กิจกรรมในวันที่สอง ณ ศูนย์เรียนรู้กลุ่มเกษตรอินทรีย์ต้นน้ำแม่ฮาว

กิจกรรมที่ 1 เป็นกิจกรรมศึกษาดูงานพื้นที่ต้นแบบเกษตรอินทรีย์บ้านสันป่ายาง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ เป็นกิจกรรมที่พากลุ่มเกษตรกรศึกษาดูงานยังพื้นที่จริง ทั้งนี้เพื่อให้เกษตรกรได้ศึกษาและร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันกับปราชญ์ชุมชนคนเกษตรอินทรีย์ รวมถึงได้ศึกษาในเรื่องของการบริหารจัดการฟาร์มระบบเกษตรอินทรีย์ การรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน การเพาะเห็ด การจัดการโรงสีข้าวชุมชน การเลี้ยงสัตว์ การปลูกไม้ผล พืชผักเมืองหนาว และการศึกษาถึงเรื่องผลิตภัณฑ์สินค้าแปรรูปจากพืชพันธุ์วัตถุดิบที่มีอยู่ในชุมชนท้องถิ่น ทั้งนี้เพื่อให้กลุ่มเกษตรกรได้ศึกษาถึงความเป็นชุมชนเข้มแข็ง ด้วยความร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชน ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการขับเคลื่อนให้เป็นชุมชนต้นแบบ เป็นชุมชนเกษตรอินทรีย์อย่างยั่งยืน

กิจกรรมที่ 2 เป็นกิจกรรมศึกษาดูงานพื้นที่ต้นแบบเกษตรอินทรีย์ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ (สวนคุณผ่องพรรณ    สะหลี) โดยให้กลุ่มเกษตรกรได้ศึกษาและร่วมแลกเปลี่ยนในเรื่องของการจัดการฟาร์มในระบบเกษตรกรรมที่ยั่งยืน ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการแลกเปลี่ยนในเรื่องของการปลูกพืชผักในสวนที่มีความหลากหลาย มีความผสมผสานกันไป รวมถึงการเรียนรู้ที่จะเก็บเมล็ดพันธุ์พืชเอง การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากสวน การจัดการระบบแหล่งน้ำ เป็นต้น

ทั้งนี้เพื่อให้กลุ่มเกษตรกรทุกคนได้นำแนวทางที่ได้ไปศึกษายังพื้นที่จริง ให้สามารถนำเอาองค์ความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ยังพื้นที่เกษตรกรรมของตนต่อไป

กิจกรรมวันที่สาม ณ ศูนย์เรียนรู้กลุ่มเกษตรอินทรีย์ต้นน้ำแม่ฮาว

กิจกรรมที่ 1 เป็นกิจกรรมแลกเปลี่ยนรู้เรื่องระบบนิเวศเกษตร และการบริหารจัดการเรื่องโรคและแมลง โดยให้มีการแบ่งกลุ่มหาแมลงตามพื้นที่กำหนดให้ และนำแมลงที่จับได้ มาทำการวิเคราะห์ว่าเป็น แมลงชนิดใด เป็นศัตรูพืชที่ช่วยกำจัดตัวอื่นหรือเป็นตัวห่ำตัวเบียน

กิจกรรมที่ 2 เป็นกิจกรรมฝึกทักษะ การทำปุ๋ยหมักโบกาชิ การทำแปลงถาวร เผาเถ่าแกลบ และการทำปุ๋ยน้ำชา เป็นกิจกรรมที่ให้กลุ่มเกษตรกรได้ลงมือปฏิบัติเอง ได้เรียนรู้การทำปุ๋ยอย่างแท้จริง ทั้งนี้เพื่อให้กลุ่มเกษตรกรได้นำเอาองค์ความรู้ไปปฏิบัติ และทำขึ้นใช้ยังพื้นที่เกษตรของตน และอาจสร้างเป็นรายได้เสริมของเกษตรกรได้ ด้วยการพัฒนำองค์ความรู้และนำเอาองค์ความรู้ไปต่อยอดในครอบครัวและชุมชนท้องถิ่นของตนต่อไป

กิจกรรมวันที่สี่ ณ บ้านอาจารย์ ดร.ชมชวน บุญระหงษ์

กิจกรรมที่ 1 เป็นกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องแนวคิดด้านเกษตรอินทรีย์และระบบเกษตรกรรมยั่งยืน โดย ดร.ชมชวน บุญระหงษ์ เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันกับกลุ่มเกษตรกรในเรื่องของเกษตรกรรมธรรมชาติ วนเกษตรอินทรีย์ เกษตรผสมผสาน เกษตรทฤษฎีใหม่ รวมไปถึงการศึกษาเรียนรู้ในเรื่องของหลักการพึ่งพาตนเองตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง หลักการใช้ทรัพยากรอย่างชาญฉลาด รู้คุณค่า และหลักการสนับสนุนแลกเปลี่ยนเรียนรู้บนฐานองค์ความรู้เพื่อพัฒนาคน องค์กร และเครือข่าย พร้อมทั้งให้เกษตรกรร่วมนำเสนอผังไร่นาในระบบเกษตรกรรมที่ยั่งยืนของตนเอง โดยมีการแลกเปลี่ยนร่วมกันทั้งกลุ่มเกษตรกรทั้งกลุ่มเก่า และกลุ่มใหม่ ทั้งนี้เพื่อช่วยกันชี้แนะนำแนวทางการวางผังไร่นาที่เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ทางการเกษตรของเกษตรกรกลุ่มใหม่ ให้มีผังไร่นาที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

กิจกรรมที่ 2 เป็นการสรุป ประเมินผลการดำเนินกิจกรรมร่วมกัน ตลอดระยะเวลา 4 วันที่ดำเนินการมา พร้อมทั้งช่วยกันวางแผนติดตามประเมินผล ผลการทำเกษตรของการเข้าร่วมเป็นเกษตรกรเกษตรอินทรีย์รุ่นใหม่ ในแต่ละเดือนต่อไป 

เราเชื่อว่าหลักสูตร “เสริมศักยภาพด้านเกษตรอินทรีย์ในระบบเกษตรกรรมที่ยั่งยืน” นี้จะเป็นหลักสูตรที่ทำให้พวกเราต่อยอดในการพัฒนาตนเองเอง พัฒนากลุ่ม พัฒนาเครือข่ายให้มีความเข้มแข็งบนฐานของการทำเกษตรอินทรีย์ในระบบเกษตรกรรมยั่งยืนต่อไป แล้วพบกันใหม่ในกิจกรรมครั้งหน้า โปรดติดตาม……

16388169_414131258926388_2771250139956421305_n

Leave a comment